ประวัติศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาที่ดินโคงการหลวง


ประวัติศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาโครงการหลวง

           จากการเสด็จแปรพระราชฐานมายังพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์จังหวัดเชียงใหม่เพื่อเยี่ยมเยือนทุกข์สุขของราษฎรในภาคเหนือทุกปี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงตระหนักถึงความทุกข์ยากของราษฎรชาวไทยภูเขาที่ยังนิยมปลูกฝิ่นเพื่อหารายได้ยังชีพพระองค์ทรงรับทราบถึงปัญหาดังกล่าวที่จะเป็นอันตรายต่อประเทศชาติ
 
           สืบเนื่องมาจากความทุกข์ยากของราษฎร  และการขาดแคลนที่ดินทำกิน ขาดความรู้ในด้านการเกษตรตามที่ตลาดต้องการ ขาดความรู้ในการป้องกันรักษาที่ดินไม่ให้เสื่อมโทรม อีกทั้งยังไม่มีการปรับปรุงบำรุงดินให้ดีอยู่เสมอ   ตลอดจนยังขาดเส้นทางคมนาคมที่จะสามารถส่งผลผลิตสู่ตลาด   และยังด้อยความรู้ในด้านการตลาด  จากที่กล่าวมานี้ ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า   การทำไร่เลื่อนลอย เพื่อหาที่ดินที่อุดมสมบูรณ์  จึงทำให้ต้องสูญเสียป่าไม้และทรัพยากรไปเป็นจำนวนมาก


 
           ในปี พ.ศ.2512  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  จึงได้ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้ง “โครงการหลวง”  ขึ้นเพื่อช่วยประสานงานกับหน่วยราชการต่างๆ เพื่อเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาชาวเขาอย่างรีบด่วนโดยมี มจ.ภีศเดช  รัชนี  เป็นผู้รับสนองพระราชดำริและนำมาปฏิบัติ  โดยดำรงตำแหน่ง องค์อำนวยการโครงการฯ ซึ่งมีชื่อเรียกโครงการนี้ในสมัยเริ่มงานครั้งแรกว่า “โครงการหลวงพัฒนาชาวเขา”  หรือ “โครงการหลวงพัฒนาภาคเหนือ ” ส่วนคณะผู้ทำงานจากหน่วยงานต่างๆ   ที่อาสาสมัครออกไปทำการส่งเสริมช่วยเหลือชาวไทยภูเขาในวันหยุดราชการ หรือวันอาทิตย์ จะเรียกงานนี้ว่า “โครงการเกษตรหลวงในพระบรมราชานุเคราะห์” และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อให้เหมาะสมอีกครั้งเมื่อปี  พ.ศ. 2523  เป็น “โครงการหลวง”
 
           โครงการหลวง มีงานหลักเพื่อสนองพระราชดำริ  4  ขั้นตอน  คือ  งานวิจัย  งานส่งเสริม  งานพัฒนาที่ดิน  งานพัฒนาเศรษฐกิจ – สังคม  กรมพัฒนาที่ดินได้เข้ามาร่วมอย่างจริงจังในปี 2519  โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ได้เสด็จพระราชดำเนินไปที่บ้านทุ่งเรา  อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่  และทรงมีพระราชดำริ  “พื้นที่นี้สมควรที่จะเข้าทำการพัฒนาและจัดที่ดินให้ราษฎร   และชาวเขาเข้าทำกินเป็นหลัก แหล่งถาวร”โดยขอให้หน่วยงานต่าง ๆ เช่น  กรมป่าไม้  กรมพัฒนาที่ดิน  กรมส่งเสริมการเกษตร  กรมชลประทาน  กรมวิชาการเกษตร  เข้าร่วมดำเนินงาน พัฒนาที่ดินซึ่งรับผิดชอบงานพัฒนาที่ดินจึงได้ส่งเจ้าหน้าที่จาก  กองบริรักษ์ที่ดิน  กองสำรวจดิน  กองสำรวจดิน  กองจำแนกที่ดิน  ทั้งนี้โดยใช้งบประมาณจากกองบริรักษ์ที่ดินเป็นบางส่วน และรับเงินสมทบจากโครงการอีกจำนวนหนึ่ง 


           ในปี พ.ศ. 2522  กรมพัฒนาที่ดิน  ได้มีงบประมาณเพื่อดำเนินการโครงการหลวงพัฒนาที่ดิน  หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าโครงการพัฒนาที่ดินชาวเขาเป็นของโครงการเอง  โดย มจ. ภีศเดช  รัชนี  องค์อำนวยการโครงการหลวง  ได้ทำหนังสือถึงสำนักงบประมาณขอให้สนับสนุนโครงการหลวง โดยจัดงบประมาณให้แก่โครงการหลวงพัฒนาที่ดินเป็นการเฉพาะ ดังนั้นโครงการจึงเริ่มได้รับงบประมาณ และเครื่องจักรกลจากรัฐบาลมาเพื่อปฏิบัติงาน สนองพระราชดำริให้ลุล่วงไปด้วยดี ในปี  พ.ศ.  2527  โครงการหลวงพัฒนาที่ดิน ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ฝ่ายปฏิบัติการโครงการหลวงภาคเหนือ” สังกัด สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต  6  ต.ดอนแก้ว  อ.แม่ริม  จ.เชียงใหม่  โดยมีลักษณะการดำเนินงานเรียกว่า “ขอจัดพัฒนาที่ดิน”  ในเขตพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมหรือป่าที่ถูกทำลาย  เนื่องจากที่ดินบนภูเขาเป็นของรัฐบาล  แต่กรมป่าไม้มีหน้าที่ดูแลรักษาเพื่อป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าและบุกรุกที่ทำกิน โดยมีกฎหมายเกี่ยวกับกรมป่าไม้ต่างๆ คุ้มครองอยู่ ดังนั้น จึงต้องขออนุญาตจากกรมป่าไม้ เพื่อให้ได้รับอนุญาตให้เข้าไปดำเนินการจัดที่ดินเพื่อการเกษตร  และจัดที่อยู่อาศัยให้แก่ชาวไทยภูเขาและชาวไทยพื้นราบด้วย ต่อมาในปี  พ.ศ.  2536  กรมพัฒนาที่ดินได้มีคำสั่งยกฐานะฝ่ายปฏิบัติการโครงการหลวงภาคเหนือ  สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต  6  ขึ้นเป็น  “สำนักงานพัฒนาที่ดินที่สูง”  และในปี พ.ศ.  2546  ได้เปลี่ยนเป็น  “ศูนย์ปฏิบัติการโครงการหลวงภาคเหนือ”  เพื่อมุ่งเน้นการปฏิบัติงานพัฒนาพื้นที่สูง ในเขตพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงของมูลนิธิโครงการหลวง เป็นต้นมา และในวันที่  10  กันยายน  2547  ผู้ร่วมปฏิบัติงานโครงการหลวงหลายหน่วยงาน มีความเห็นว่าชื่อ “ศูนย์ปฏิบัติการโครงการหลวงภาคเหนือ”  ไม่ได้สื่อภารกิจของกรมพัฒนาที่ดินที่ชัดเจนและง่ายต่อการเข้าใจ  จึงได้ขออนุมัติกรมพัฒนาที่ดินเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น  “ศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาที่ดินโครงการหลวง”  โดยใช้ตัวย่อว่า “ศพล.”