นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดอาคารศูนย์ความเป็นเลิศด้านดินเค็มกรมพัฒนาที่ดิน
วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เวลา 15.00 น. นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารศูนย์ความเป็นเลิศด้านดินเค็มกรมพัฒนาที่ดิน (The Center of Excellence in Soil Salinity Land Development Department) โดยมี นายสากล ณ ฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 กล่าวต้อนรับ ในฐานะเจ้าภาพในการจัดตั้งศูนย์ฯ พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดิน 8 จังหวัด นักวิชาการ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นเกียรติในงาน ณ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านดินเค็ม สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
นางสาวเบญจพร อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า “มีความยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ทางสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 ได้เชิญมาเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารศูนย์ความเป็นเลิศด้านดินเค็มกรมพัฒนาที่ดิน (The Center of Excellence in Soil Salinity Land Development Department) และในโอกาสนี้ ขอเปิดศูนย์ความเป็นเลิศด้านดินเค็ม ซึ่งเป็นศูนย์หลักของกรมพัฒนาที่ดิน โดยกรมฯ มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 เป็นเจ้าภาพใหญ่ ในการจัดตั้งศูนย์แห่งนี้ พร้อมทั้งสนับสนุนในเรื่องของการจัดทำศูนย์ฯ ด้านดินเค็ม ทั้งนี้ ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าศูนย์ความเป็นเลิศด้านดินเค็มแห่งนี้ จะเป็นศูนย์หลักในการสนับสนุนเรื่องของการจัดทำข้อมูลในระบบภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะไปสนับสนุนในระดับโลกด้วย (Global Soil Partnership: GSP) ต่อไป”
ทั้งนี้ จากสภาพปัญหาดินส่วนใหญ่ในพื้นที่อีสานตอนบน เป็นดินทรายและขาดความอุดมสมบูรณ์ ดินชะล้างพังทลายสูง ส่วนในพื้นที่ลุ่มที่ใช้ผลิตข้าว 68 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ได้รับผลกระทบจากดินเค็มและพื้นที่ดินเค็มที่เป็นปัญหาส่วนใหญ่จะอยู่ในจังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดสกลนคร ดังนั้น สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 จึงได้จัดให้จังหวัดขอนแก่นเป็นพื้นที่นำร่องโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มหรือโครงการดินเค็ม ทุ่งเมืองเพีย เนื่องจากมีพื้นที่ดินเค็มอยู่ในระดับรุนแรงมากและมีผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรและชีวิตความเป็นอยู่โดยรวม
กรมพัฒนาที่ดิน โดยสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 จึงได้ดำเนินการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม จากที่ดำเนินการมาแล้ว ตั้งแต่ปี 2543 รวมทั้งหมด 22 ปี จึงทำให้มีผลสัมฤทธิ์ทางด้านสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลให้สามารถพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม เพื่อผลิตผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้น จากผลสัมฤทธิ์ดังกล่าว ทำให้สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 จึงเป็นหน่วยงานที่มี ข้อมูลด้านดินเค็ม เพื่อให้นำไปสู่ความเป็นเลิศด้านดินเค็ม ไม่ว่าจะเป็นด้านบุคลากร ด้านดิจิทัล ด้านเชื่อมโยงข้อมูล และการเปิดเผยข้อมูล (Open and Connected) ด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Infrastructure) ด้านนวัตกรรมและการบริการ (Innovation and Service) และด้านการเป็นองค์การดิจิทัล ประกอบกับการกำหนดแผนปฏิบัติการและแผนงานด้านงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพที่ครอบคลุม ทั้งด้านการดำเนินงานอย่างเป็นระบบและยั่งยืนให้ดำเนินการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ดินเค็มโดยใช้หลักเมืองเพียโมเดล และเป็นต้นแบบในการพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูล (Big Data) ตามวัตถุประสงค์ของกรมพัฒนาที่ดินต่อไป
รายงาน/ภาพ : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน